วนอุทยาน ถ้ำเพชร - ถ้ำทอง

เอกลักษณ์ที่สำคัญคือ ถ้ำหินปูนใหญ่น้อยกว่า 70 ถ้ำ

วนอุทยาน ถ้ำเพชร - ถ้ำทอง ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าบริเวณเขาชอนเดื่อ ท้องที่หมู่ที่ 15 และหมู่ที่ 17 บ้านเขาชอนเดื่อ บ้านสระแก้ว ตำบลตาคลีและบ้านหนองพิกุล อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ มีเนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2540โดยให้อยู่ในความควบคุมดูแล ของสำนักงานป่าไม้เขตนครสวรรค์ พื้นที่จัดตั้งประกอบด้วย เขาชอนเดื่อ และเขาขวาง เดิมทีอยู่ในเขตป่า สงวนแห่งชาติ ป่าหัวหวาย ซึ่งประกาศเป็นป่าสงวนฯ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (2501) ลงวันที่ 26 กันยายน 2501 ภายหลังที่กระทรวงเกษตรฯ ไม่ขัดข้องที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมประชา สงเคราะห์ ขอย้ายเขตนิคมสร้าง ตนเองเข้าไปในเขตป่าสงวนฯ ป่าหัวหวาย และกระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศ เพิกถอนป่าสงวนฯ ป่าหัวหวาย ต่อมา กรมประชาสงเคราะห์ได้อนุญาตให้กรมป่าไม้ใช้พื้นที่เขาชอนเดื่อ ท้องที่ อำเภอตาคลี และเขาขวาง ท้องที่ อำเภอตากฟ้าผนวกเข้าด้วยกันมีเนื้อที่ทั้งหมด 4,659 – 2 – 00 ไร่ เพื่อจัดตั้งเป็น วนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง ตามหนังสือประชาสงเคราะห์ ที่ รส.0405/109879 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2539

ลักษณะภูมิประเทศ เขาชอนเดื่อมีความสูง 100 - 375 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นภูเขาหินโผล่ มีพรรณไม้หลากหลายชนิดเป็นแหล่งต้นน้ำของห้วยหินเพลิน ห้วยน้ำโก้และห้วยดินสอพอง สภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาเล็ก ๆ กลางเมือง เป็นเขาหินปูน หินอ่อน และหินแกรนิต บนยอดเขามีลักษณะเป็นเนินเขาสลับกัน กับพื้นที่ราบสามารถเดินเชื่อมติดต่อกัน ได้ เชิงเขาทางทิศใต้ติดถนนสายพหลโยธินตรงหลักกิโลเมตรที่ 247 - 248 ระยะทางประมาณ 200 เมตรเท่านั้น ภายในเขาชอนเดื่อประกอบด้วยถ้ำน้อยใหญ่ มีทางเดินเชื่อมต่อกันรวมประมาณ 70 ถ้ำ

จุดเด่นที่น่าสนใจ

สถานที่ที่ท่องเที่ยวของวนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง ส่วนใหญ่เป็นจำพวกถ้ำ จากการสำรวจพบว่ามีถ้ำทั้งหมดประมาณ 70 ถ้ำ ขณะนี้ได้มีการพัฒนาให้เข้าเที่ยวชมแล้วจำนวน 9 ถ้ำ แต่ละถ้ำมีความหลากหลายแตกต่างกัน และยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1.2 กิโลเมตร ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติมีทรัพยากรธรรมชาติ เหมาะแก่การเรียนรู้อีกมากมาย ซึ่งได้จัดทำไว้เป็นจุด ๆ ตามเส้นทางเดิน จุดเด่นที่น่าสนใจของวนอุทยานมีดังนี้

1. ถ้ำบุษราคัม ภายในถ้ำมีห้องโถงขนาดใหญ่ 2 ห้อง มีหินงอก หินย้อยหลายสีสลับเป็นชั้น ๆ บางจุดเป็นเหมือนปุยนุ่นสีขาวบริสุทธิ์ ยามกระทบกับแสงไฟจะเป็นประกายแวววาวประดุจเพชรอันล้ำค่า 2. ถ้ำเพชรนางอาย เป็นอีกถ้ำที่มีความหลากหลาย มีความลี้ลับในตัว ตามทางเดินและผนังถ้ำมีหินงอกหินย้อยแสนวิจิตรพิสดารยิ่งนัก 3. จุดชมวิว ได้แก่ จุดชมวิวผาชมภู อยู่เลยถ้ำวิมานลอยไปทางทิศตะวันออก ความสูงอยู่ที่ระดับ 345 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีทัศนียภาพที่สวยงามสามารถมองเห็นตลาดตาคลี และเขาขวางที่ทอดเป็นแนวยาวด้านอำเภอตากฟ้า 4. สมุนไพรยักษ์ ต้นกำลังหนุมาน ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่ใหญ่ วัดโดยรอบลำต้น 139 เซนติเมตร 5. เครื่องปั้นดินเผา หม้อไหโบราณลายต่าง ๆ และของใช้ยุคมนุษย์ถ้ำ

พืชพรรณและสัตว์ป่า มีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง บนพื้นที่ภูเขาประกอบด้วยพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆและไม้มีค่าทางเศรษฐกิจได้แก่ มะค่าโมง ตะแบก กะเบาลิง สมพง ปออีเก้ง มะหาด มะไฟป่า มะม่วงป่า ไม้พื้นล่างได้แก่ ไผ่ป่า และสมุนไพรต่าง ๆ เช่น จันทน์แดง จันทน์ขาว จันทน์ผา สลัดใด มะกา หนุมาน สัตว์ป่าที่พบและอาศัยอยู่ในบริเวณเทือกเขาชอนเดื่อ ที่มีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง มีสัตว์ป่าหลายชนิดได้แก่ เสือ หมี เก้ง เลียงผา ลิงป่า งูจงอาง ไก่ป่า ชะมด

ถ้ำที่น่าสนใจ ได้แก่

ถ้ำวังไข่มุก ถ้ำวังไข่มุก อยู่ทางด้านใต้ มีหินงอกหินย้อยสีน้ำตาลเข้ม น้ำตาลอ่อน จนถึงสีขาวนวล มีห้องโถง 3 ห้อง ประดับด้วยเกล็ดเพชร ส่องแสงเป็นประกายคล้ายพระราชวัง มีบันไดไปชมถ้ำ

ถ้ำดาวดึงส์ ถ้ำดาวดึงส์ อยู่ทางด้านทิศเหนือ มีห้องโถงขนาดใหญ่จุคน 400 - 500 คน มีช่องระบายอากาศด้านบน ถ้ำที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้แก่ ถ้ำเจ้าพ่อเสือ ถ้ำวิมานลอย ถ้ำมหาโพธิ์ทอง

ถ้ำประกายเพชร ถ้ำประกายเพชร อยู่ในด้านทิศตะวันตก ลึกประมาณ 50 เมตร มีห้องโถงขนาดใหญ่ 5 ห้อง มีหินงอกหินย้อยรูปต่าง ๆ ได้แก่ ปลาโลมาและกำแพงเมืองจีน เป็นต้น

ถ้ำประดับเพชร ถ้ำประดับเพชร ทางด้านใต้ ถ้ำเป็นห้องโถง 4 ห้อง หินงอกหินย้อยสีน้ำตาลอ่อน-ขาวนวล สีแสงระยิบระยับเหมือนเพชร

การเดินทาง ทางรถยนต์ จากกรุงเทพ ฯ ตามถนนสายเอเซีย แยกขวาเข้าอำเภอตาคลี ตามเส้นทางถนนสายพหลโยธิน ผ่านตัวอำเภอตาคลีไปอำเภอตากฟ้า ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 247 - 248 บริเวณทางโค้งจะมีถนนราดยางแยกซ้ายมือจากถนนสายพหลโยธินประมาณ 200 เมตร ก็จะถึงที่ทำการวนอุทยานถ้ำเพชร – ถ้ำทอง

ทางรถไฟ สายเหนือ กรุงเทพ - เชียงใหม่ แล้วลงสถานีอำเภอตาคลี แล้วไปขึ้นรถโดยสารหรือรถรับจ้างไปถ้ำเพชร - ถ้ำทอง ประมาณ 12 กิโลเมตร

 

Visitors: 89,423